ดีแค่ไหนถ้าในช่วงเวลาของการเสี่ยงภัยจะมีตัวช่วยสุดเจ๋งเข้ามาทำหน้าที่รับความเสี่ยงนั้น พีรสิทธิ์บุตตะกะ, อนุวัฒน์ อยู่สำราญ และ คมกริช อุดมพุทธา นักศึกษาจากภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เฝ้ามองสถานการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมักต้องเผชิญกับปัญหาจากการไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในพื้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อ “ตาเหยี่ยว”
“ตาเหยี่ยว” เป็นเครื่องบินเล็ก หรือ อากาศยานไร้นักบิน ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อภารกิจด้านการสำรวจพื้นดินและสอดแนม รวมถึงเข้าปฏิบัติงานในสภาพของพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย โดยมีจุดเด่นที่ศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่มีต้นทุนต่ำ ขนาดเล็ก และ น้ำหนักเบา เหมาะกับการใช้งานในสมรภูมิรบที่ไม่มีรันเวย์ขึ้นบิน ทำให้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถประยุกต์ใช้กับงานในลักษณะอื่นๆ ได้หลากหลาย
รูปลักษณ์ภายนอกของเครื่องบินเล็กสอดแนมนี้คือ ปีกเดี่ยวบน ขนาด 1 ใบพัด ความยาวจากปีกถึงปีก 160 เซนติเมตร ความยาวจากหัวถึงท้าย 90 เซนติเมตร ขับเครื่อนด้วยแบตเตอรรี่ไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 24 โวลต์ 3 แอมแปร์ สามารถบินได้สูง 1,000 เมตร รัศมีในการควบคุม 2500 เมตร นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานนาน 1 ชั่วโมง พร้อมกล้องความละเอียดสูงติดตั้งที่ส่วนหัว ทำให้ปรับมุมมองกล้องในมุมกว้างได้มากกว่า 90 องศา และมุมก้มได้มากกว่า 45 องศา น้ำหนักรวมราว 2.6 กิโลกรัม ระบบการทำงานแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภาคพื้นดิน ประกอบด้วยชุดรีโมทควบคุมการบิน ชุดสายติดตามระบบ จีพีเอสและชุดแสดงผลได้แก่ภาพถ่าย พิกัดความสูง อุณหภูมิ และระดับพลังงาน คงเหลือ ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่อยู่ภาคอากาศคือ อากาศยานที่ติดตั้งกล้อง ชุดรับสัญญาณควบคุมการบินและชุดส่งสัญญาณภาพ ทีมนักพัฒนาบอกว่า ตาเหยี่ยวถูกออกแบบมาให้สามารถปรับใช้กับงานอย่างหลากหลายเช่นในงานสำรวจผืนป่า งานค้นหาบุคคลสูญหายจากภัยพิบัติอุทกภัย แผ่นดินไหว งานสำรวจสภาพการจราจร การตามติดคนร้าย การข่าว การสอดแนม งานวิจัยด้านอวกาศและสารสนเทศ ที่สำคัญโครงการนี้ประสบความสำเร็จมาได้เป็นอย่างดีเพราะพวกเขาได้ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ และ ดร.สมบูรณ์ ธีรวิสิฐพงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดโครงการ