ปทุมธานี : ทีมวิจัยของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพิ่มมูลค่าเศษเส้นใยที่เหลือจากการผลิตน้ำมันปาล์มโดยใช้ทำแผ่นฉนวนดูดซับเสียง คุณภาพเหนือกว่าแผ่นดูดซับเสียงทั่วไปในท้องตลาด
นายกิตติชาติ โหมาศวิน อาจารย์นักวิจัยและทีมงานจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี เล็งเห็นว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ และหลังการผลิตน้ำมันปาล์มทำให้เหลือ เส้นใยเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าวัสดุที่เหลือจากการผลิตน้ำมันปาล์มด้วยการทำวิจัย และนำ เส้นใยปาล์มน้ำมันมาอัดแผ่นเป็น ฉนวนดูดซับเสียงขึ้น โดยความร่วม มือจากบริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี จัดส่งใยปาล์มน้ำมันมาให้ และบริษัท เซลโลกรีตไทย จำกัด ช่วยศึกษาและเก็บข้อมูลในการวิจัย
ทั้งนี้ การดำเนินงานได้อัดขึ้นรูปเส้นใยปาล์มน้ำมันให้เป็นแผ่นด้วยกรรมวิธีการอัดร้อน กำหนดช่วงความหนาแน่นระหว่าง 200-400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ความหนา 12.5 และ 20 มม. อุณหภูมิในการอัด 150 องศาเซลเซียส ใช้แรงอัดระหว่าง 25-30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ใน 8 นาที ใช้กาว pMDI ร้อยละ 5-7
จากนั้นนำไปทดสอบคุณ-สมบัติการดูดซับเสียงตามระดับความดัง (dB) พบว่าแผ่นฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมันดูดซับเสียงได้ดีกว่าฉนวนดูดซับเสียงตามท้องตลาด โดยดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ 29.42% ที่ความหนาแน่น 400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 20 มม. ในขณะที่ฉนวนดูดซับเสียงตามท้องตลาดดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ 26.46% และในการทดสอบคุณสมบัติดูดซับเสียงแยกย่านความถี่ (Hz) พบว่าฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้ดีที่ย่านความถี่ระดับกลางถึงระดับสูง (500-2,000 Hz)