
นักวิจัย มทร.ธัญบุรี วิจัยการผลิตกระดาษเชิงหัตถกรรมจากฟางข้าว ด้วยกรรมวิธีทางชีวภาพ เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย อยู่ในที่ตั้งที่เหมาะสมแก่การทำการเกษตรเขตร้อนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาอย่างต่อเนื่อง
โดยประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศได้ผลผลิตข้าว 24 ล้านตัน แต่นอกจากความเชี่ยวชาญในการปลูกข้าวเพื่อการบริโภคและการส่งออกแล้ว ประเทศไทยยังจะต้องมีความรับผิดชอบในการลดภาวะโลกร้อนหรือภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงด้วย เนื่องจากข้าวจำนวนมหาศาลที่ประเทศไทยผลิตออกมาแต่ละปีหลังฤดูการเก็บเกี่ยวนั้น ส่วนที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวก็คือฟางข้าว ซึ่งปัจจุบันฟางข้าวที่ได้หลังการปลูกข้าวนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการที่ดีและเหมาะสมเท่าที่ควร โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการเผาทำลาย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างมลภาวะทางอากาศอย่างมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการทำเกษตรกรรมอีกด้วย เนื่องจากการเผาฟางข้าวก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่สามารถตกค้างอยู่บนโลกได้ถึง 250 ปี และยังเป็นการทำลาย ธาตุอาหารของพืช และจุลินทรีย์ที่ดีในดินให้หมดไป ซึ่งจากข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดินในปี 2010 พบว่า มีฟางข้าวเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณต่อซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 165 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณฟางข้าวและตอซังมากพบที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจำนวน 13.7 และ 9.1 ล้านตันต่อปี รองลงมาคือภาคกลางและภาคตะวันออก มีจำนวนฟางข้าวและตอซัง 6.2 และ 4.1 ล้านตันต่อปี และในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม ดังนั้นจึงนับได้ว่าประเทศมีปริมาณฟางข้าวและต่อซังข้าวมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตอซังพืชชนิดอื่น
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ผศ.สุจยา ฤทธิศร นักวิจัยจากสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงคิดนำฟางข้าวเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมมาเพิ่มมูลค่า โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษเชิงหัตกรรม ซึ่งนอกจากจะนำฟางข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้เพื่อนำมาผลิตเยื่อกระดาษ ทดแทนเยื่อไม้ป้อนอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษอีกทางหนึ่งด้วย
ผศ.สุจยา กล่าวว่า การวิจัยได้นำเชื้อราไตรโคเดอร์มา มาช่วยย่อยสลายฟางข้าว ซึ่งเป็นการลดการใช้สารเคมีที่ใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษเช่นที่อุตสาหกรรมใช้กัน โดยขั้นตอนการทำคือนำฟางข้าวแช่น้ำ 1 คืนเพื่อให้อ่อนนุ่มขึ้น จากนั้นนำฟางข้าวมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาใส่ถุงพลาสติกเหมือนการเพาะเห็ด แล้วนำไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ในฟางข้าวให้หมดไปประมาณ 1 ชม. ที่อุณหภูมิ 100 องศา จากนั้นเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยนำหัวเชื้อราผง มาเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตโดยใช้ข้าวฟ่างเลี้ยงประมาณ 5 วันจะได้หัวเชื้อรา จากนั้นนำหัวเชื้อราที่ได้ใส่ลงในฟางข้าวที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วหมักทิ้งไว้ในถุงพลาสติก 30 วัน จะทำให้ได้ค่าลิกนิน (lignin) ที่น้อยลง เนื่องจากการผลิตกระดาษจะต้องกำจัดลิกนินออกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะได้เส้นใย เซลลูโรส (Cellulose) สำหรับทำการะดาษ ซึ่งเมื่อเพาะเลี้ยงครบ 30 วันก็ให้นำฟางข้าวที่ได้มาล้างให้สะอาด จากนั้นแยกเส้นใยให้แตกออกจากกันโดยการปั่น และนำมาต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ อัตราส่วนร้อยละ 5 นาน 2 ชั่วโมง
จากนั้นเติมสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟตหรือสารฟอกขาวตามปริมาณความต้องการที่จะให้กระดาษขาวมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าไม่ใช้ก็จะได้สีธรรมชาติ ซึ่งเมื่อต้มเสร็จแล้วให้ล้างสารฟอกขาวออกให้หมด จากนั้นนำเส้นใยที่ได้วางลงบนแผงตะแกรงเป็นแผ่นกระดาษตามความต้องการทั้งความหนา ความกว้าง หรือจะตบแต่งลวดลายดอกไม้ใบไม้เพิ่มมูลค่าลงไปได้อีกด้วย จากนั้นตากให้แห้งก็จะได้กระดาษจากฟางข้าว สำหรับนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางหัตกรรมต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้หากกลุ่มแม่บ้าน หรือวิสาหกิจชุมชนใดสนใจเทคนิคการเพาะเชื้อทางชีวภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กระดาษจากฟางข้าวที่ดี สามารถติดต่อสอบาถมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2549-4177 และ 0-2549-4180 ในวันเวลาราชการ
http://radio2.rmutt.ac.th/?p=13098