ทีมวาไรตี้
“ทุกประเทศล้วนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะไทยมีความละเอียดอ่อนในการทอผ้าและลวดลาย แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะเราสวมใส่เพื่อการอนุรักษ์มากกว่าใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนก่อน ขณะที่คนในชนบทยังนิยมใช้ผ้าถุงอยู่ เพราะสะดวกไม่ต้องยุ่งยาก”
มองไปรอบ ๆ ประเทศแถบอาเซียน เครื่องแต่งกายแสดงสัญลักษณ์ของผู้คนในย่านนี้ มีมากมายแต่ที่โดดเด่นจริง ๆ เห็นจะเป็น “ผ้านุ่งของผู้หญิง” เช่น ผ้าถุง ผ้าซิ่น แม้เวลาผ่านไป หลาย ๆ ประเทศคนรุ่นใหม่ยังนิยมใส่กันจนเป็นเอกลักษณ์ แต่ประเทศไทยทุกอย่างดูเหมือนสวนทาง
ทั้งที่จริงผ้านุ่งถือเป็นความโดดเด่นทางวัฒน ธรรมของสังคมอาเซียน สุทธิลา สวนาพร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายถึงความหมายในเนื้อผ้าว่า ผ้านุ่งถือเป็นวัฒนธรรมมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี พัฒนารูปแบบการผลิตมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันหลายประเทศยังนิยมสวมใส่เช่น สปป.ลาว นิยมสวมใส่ผ้าซิ่นแบบหยักรั้ง โดยให้เห็นเข็มขัดแสดงถึงความสวยงามในการสวมใส่ ขณะที่ทางตอนใต้ของประเทศอย่าง มาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ไม่เน้นผ้าทอแต่เน้นการเขียนลวดลายแบบผ้าบาติก
ทุกประเทศล้วนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะไทยมีความละเอียดอ่อนในการทอผ้าและลวดลาย แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะเราสวมใส่เพื่อการอนุรักษ์มากกว่าใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนก่อน แต่คนในชนบทยังนิยมใช้ผ้าถุงอยู่ เพราะสะดวกไม่ต้องยุ่งยาก
“เท่าที่สังเกตเห็นว่าคนในชนบทที่ใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติจะนิยมสวมใส่ผ้าถุง เพราะสบายเวลาไปนาไปไร่นั่งตรงไหนก็สะดวก ยิ่งสมัยก่อนไม่มีห้องน้ำแค่ตีโป่งผ้าถุงให้กางออกก็ทำธุระส่วนตัวได้ หรืออาบน้ำใช้แค่ผ้าผืนเดียว จะนอนก็ถอดผลัดเปลี่ยนสบาย ผิดจากคนรุ่นใหม่ที่ถามว่าทำไมไม่ลองนุ่งผ้าพวกนี้ หลายคนบอกว่านุ่งไปกลัวหลุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับพวกเขา”
หากมองให้ลึกหลายคนยังสับสนระหว่างผ้าถุงกับผ้าซิ่น ตามพจนานุกรมตีความ ผ้าถุงไว้ว่าเป็นเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิง จริงแล้วผ้าถุง คือผ้าที่เย็บตะเข็บข้างไว้ด้วยกันเป็นลักษณะถุง ต่างจากผ้าซิ่นที่ผ้าแบ่งเป็นสามส่วนคือ หัวซิ่น ตัวซิ่น ตีนซิ่น เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีเครื่องทอผ้าขนาดเล็กทำให้ต้องทอทีละส่วนและนำมาต่อกันเป็นผืนเดียว ปัจจุบันเพื่อการสวมใส่ที่สะดวกซิ่นมีการเย็บตะเข็บข้างทั้งสองให้เหมือนกับผ้าถุง
แนวคิดลวดลายของผ้าส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ จึงเห็นได้ว่าหลายลายมีลักษณะเหมือนต้นไม้ใบหญ้า เช่น ลายขิด ลายขอ ลายลูกกรง ยิ่งคนสูงอายุที่เก่ง ๆ ไม่มีวางลวดลายไว้ก่อน แต่ระหว่างทำคิดจินตนาการลวดลายไหนได้ก็ใส่ลงไป ยิ่งผ้ามัดหมี่ลวดลายยิ่งมากแสดงว่าคนทำเก่ง เพราะต้องมีการมัดหลายขั้นตอน
สำหรับลายที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันคือ ลายดอกแก้ว ลายมุก ลายหงส์ ลายขอ ลายกุญแจ เดี๋ยวนี้มีมากกว่า 200 ลาย ซึ่งผ้าผืนหนึ่งอาจไม่ได้ใช้ลายเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่มีการประยุกต์หลาย ๆ ลายเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการในคนรุ่นใหม่
ถ้ามองย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อน ผ้านุ่งในประเทศไทยได้รับความนิยมน้อยมาก แต่พอพระราชินีทรงส่งเสริมหลายคนหันกลับมาสนใจมากขึ้น ช่วงเวลานั้นถือเป็นอีกรอยต่อสำคัญของการพัฒนาลายผ้าให้ดูทันสมัย จนมาถึงปัจจุบันการดีไซน์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงออกแบบให้ผ้านุ่งดูร่วมสมัยขึ้น
ประเด็นที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผ้าพวกนี้น้อยเนื่องจาก การสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกละเลยเนื่องจากเด็กได้เห็นการใส่สั้น ๆ แต่คนสมัยก่อนให้เห็นแม้แต่หัวเข่ายังไม่ได้ ขณะเดียวกันวัยรุ่นสมัยนี้เดินเรียบร้อยแล้วเร็วด้วยไม่เป็น ซึ่งเมื่อเดินไม่เป็นการสวมใส่ผ้านุ่งเริ่มลดความนิยมลงเรื่อย ๆ ไม่ต่างกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นสะดวกสบายทำอย่างไรก็ได้ให้ชุดที่ออกมารัดแนบเนื้อมากที่สุด
คนรุ่นใหม่ยังมองว่าผ้าพวกนี้ถ้าหากผ่านการทอดี ๆ จะมีราคาแพง ทำให้การสวมใส่น้อยลง ขณะเดียวกันมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นทำให้ราคาผ้าบางประเภทถูกลง แต่คนเลือกซื้อต้องมีความรู้ในผ้าที่สวมใส่ ที่ผ่านมาความรู้พวกนี้ไม่ถูกถ่ายทอดอย่างทั่วถึงพอ
“เรื่องของคนทอสำคัญเพราะคนทอรุ่นใหม่ ๆ มีน้อย อย่างเคยถามลูกศิษย์ที่บ้านอยู่สุรินทร์ครอบครัวทอผ้าว่าทำไมไม่ลองช่วยที่บ้านทำ เด็กกลับตอบว่าต้องนั่งทอและจกลายเป็นวัน ๆ สู้ไปซื้อผ้าสำเร็จที่ทอจากระบบอุตสาหกรรมง่ายกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขายังไม่เห็นคุณค่า ภาครัฐเองต้องช่วยกันทำความเข้าใจแก่เด็ก ๆ ว่าการทอผ้าถือเป็นการใช้เวลาว่างอย่างหนึ่ง เพราะคนสมัยก่อนว่างจากการทำไร่นาก็มารวมกลุ่มทอผ้า ทอไปด้วยคุยกันไปด้วยถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชุมชน”
สำหรับโรงงานที่ผลิตผ้าการมีสำนึกต่อสังคมมีส่วนสำคัญ เพราะต้องมีการบำบัดน้ำเพื่อไม่ให้กระทบกับชุมชนหรือแหล่งน้ำรอบข้าง เช่นเดียวกับสีที่ใช้ย้อมผู้ใส่บางรายอาจแพ้ทำให้มีผื่นขึ้น ดังนั้นผู้ซื้อก่อนจะใส่ทุกครั้งควรซักก่อน เนื่องจากกระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอน จึงจำเป็นที่ผู้สวมใส่ควรซักเอาสีเคลือบผ้าออกก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการทดลองว่าผ้าผืนนั้นมีสีตกหรือไม่จะได้ไม่ต้องไปซักรวมกับผ้าอื่น ๆ
การเลือกซื้อผ้าขึ้นอยู่กับผู้สวมใส่ บางคนไม่สนใจว่าเป็นเส้นใยอะไร แต่ถ้าให้ดีควรเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ระบายความร้อนได้ดี หรือหากไปซื้อผ้าถุงธรรมดาการสัมผัสเนื้อผ้าเป็นเรื่องจำเป็น ลองใช้นิ้วถูลงบนเนื้อผ้าถ้าหากมีสีติดมือนั่นแสดงว่าผ้าผืนนั้นมีโอกาสสีตกสูง หรือหากสัมผัสเนื้อผ้ามีความกระด้างนั่นแสดงว่าผ้านั้นมีโอกาสสีตกเช่นกัน แต่ถ้าซื้อมาแล้วกลัวสีตกลองซักครั้งแรกด้วยการแช่ในน้ำส้มสายชูหนึ่งช้อนโต๊ะในน้ำเพื่อให้สีเหล่านั้นตกน้อยที่สุด
เทคนิคการตากผ้านุ่งเองก็สำคัญ ควรสลัดผ้าแล้วตากเพื่อให้น้ำไหลลงมาตามแนวดิ่ง พอแห้งจะรีดง่าย แต่ถ้าบิดผ้าเส้นด้ายจะหักการไหลลงมาของน้ำจะไม่ดี หลายคนมองการดูแลผ้านุ่งเป็นเรื่องยาก แต่จริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจมีน้อย ถ้าผู้ผลิตมีใบบอกการดูแลรักษาไปพร้อมกันด้วยจะทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจมากขึ้น
นอกจากการสวมใส่ในพิธีต่าง ๆ แล้ว อยากลองให้คนรุ่นใหม่ประยุกต์ผ้านุ่งมาใส่ในเวลาทำงาน โดยเน้นลวดลายพื้น ๆ ทันสมัยด้วยทรงเสื้อทำงานเก๋ ๆ นุ่งแบบหยักรั้งคล้ายการใส่เดรส แต่ต้องใช้ผ้าที่เป็นเกรดแบบไม่ยับง่ายจะทำให้ดูสมาร์ทขึ้นไม่น้อย
อนาคตของผ้านุ่งส่วนใหญ่ใส่เพื่อการอนุรักษ์ แต่ถ้ามีการปลูกฝังและรณรงค์จริง ๆ ควรส่งเสริมในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ อย่างโรงเรียนบางแห่งอาจให้ใส่มาเรียนอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ขณะที่วัยรุ่นหรือคนทำงานลองหาโอกาสที่เหมาะสมในการใส่ดูคงดีไม่น้อย.
7 วิธีมัดผ้านุ่งใส่สบาย
1.นุ่งผ้าป้ายตลบ เหมาะกับผ้านุ่งผืนกว้าง นุ่งแล้วจับปลายผ้าด้านหนึ่งทบมาด้านลำตัว แล้วพับตลบส่วนที่เหลือกลับไปด้านหน้าอีกทีหนึ่ง รัดเข็มขัดเก็บชายพก
2.นุ่งผ้าจับจีบ การนุ่งคล้ายจับจีบหน้านาง เหมาะกับผ้านุ่งผืนกว้างเนื้อนิ่ม ให้ลำตัวอยู่ตรงกลาง จับผ้าที่เหลือซ้ายขวาเป็นจีบเข้าหากัน คาดเข็มขัดเก็บชายพกเป็นบางส่วนหรือจะเก็บทั้งหมดก็ได้
3.นุ่งผ้าพันรอบตัว เหมาะกับผ้าที่ใช้ได้ทั้งสองด้าน ทำให้เกิดสลับสีลวดลายในผ้าผืนเดียวกัน นุ่งโดยพับชายผ้าด้านหนึ่งมาอีกด้านหนึ่ง ดึงชายผ้าอีกด้านตลบทับมาด้านหนึ่งอีกที ตลบชายที่เหลือย้อนกลับอ้อมไปด้านหลังลำตัว ตอนนี้ผ้าจะพลิกอีกด้าน คาดเข็มขัดเก็บชายพก เวลาเดินผ้าจะเคลื่อนไหวทั้งด้านหน้าและหลัง
4.นุ่งผ้าป้ายซ้อน เหมาะกับคนร่างเล็ก เมื่อพับผ้านุ่งป้ายมาด้านหน้าแล้ว จะยังมีผ้าเหลือ สามารถแยกชิ้นที่ป้ายขึ้นมาด้านหน้านั้น ได้เป็นสองหรือสามทบ เมื่อนุ่งแล้วจะเห็นเป็นจีบซ้อนกันสองจีบสามจีบ แล้วคาดเข็มขัดเก็บชายพกใต้เข็มขัด จะให้จีบทบอยู่กลางตัวหรือด้านข้างก็ได้
5.นุ่งผูกปมทิ้งชายผ้า การนุ่งผ้าผืนยาวที่ไม่เย็บเป็นถุง นุ่งได้โดยใช้ผ้าผืนยาวอ้อมลำตัวให้ลำตัวอยู่ตรงกลาง ดึงขอบผ้าซ้ายขวากะยาวพอประมาณ ผูกเป็นปมกลางลำตัวให้แน่น ทิ้งชายที่เหลือทั้งหมดลง ผ้าจะเป็นจีบซ้อนกันสองด้าน
6.พันผ้ารั้งชาย นุ่งผ้าทั้งผืนตามแนวยาวโดยผ้าที่ไม่ได้เย็บเป็นถุง พันชายผ้าด้านหนึ่งทาบบนลำตัวด้านหน้า ดึงชายที่เหลืออีกด้านทับย้อนกลับมา โดยเก็บเป็นจีบหยักรั้งดึงเข้าขึ้นมาทั้งหมด แล้วคาดเข็มขัดเก็บชายพกเป็นบางส่วน
7.นุ่งผ้าป้าย นุ่งแบบป้ายทับซ้ายและขวา เหมาะกับผ้านุ่งผืนแคบให้ลำตัวอยู่ตรงกลาง จับขอบผ้าด้านขวาทบเข้าหาตัว แล้วจับปลายด้านซ้ายทบทับอีกที.