มทร.ธัญบุรี จับมือรพ.พระมงกุฎและ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้พิการนำร่องใช้กับผู้ป่วยทหารในภาคสนาม มุ่งพัฒนาศูนย์อุปกรณ์สำหรับผู้พิการครบวงจรในอนาคต
ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์สำหรับผู้พิการที่ตนได้ศึกษาและประดิษฐ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ทางโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เล็งเห็นนวัตกรรมสำหรับผู้พิการเหล่านี้ว่าหากได้รับการร่วมมือและได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจะสามารถตอบสนองความต้องการและช่วยเหลือผู้พิการได้ประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้พิการในครั้งนี้และเป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ตนและ ผศ.ดร. เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นฝ่ายที่รับผิดชอบในด้านงานประดิษฐ์คิดค้นและวิจัย ภายใต้การ ดูแลและให้คำชี้แนะทางการแพทย์จากทีมแพทย์ และวิจัยร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า และกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระมงกุฎเกล้า
พ.อ.รศ.นพ. สุธี พานิชกุล หัวหน้าสำนักงานพัฒนางานวิจัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า เนื่องจาก ข้าราชการทหารที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ที่ยังมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่องในบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือท้องที่อื่นๆ เมื่อได้รับบาดเจ็บและอาจถึงกลายเป็นผู้พิการยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และตอบสนองต่อความพิการของร่างกายแต่ละคนที่แตกแต่งกันออกไปไม่เต็มที่และเพียงพอ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมมือเพื่อวิจัยและคิดประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับผู้พิการแล้ว ความมุ่งหวังต่อไปก็คือการประดิษฐ์อุปกรณ์ ที่ตอบสนองต่อความพิการอย่างหลากหลายและตรงตามความต้องการ
เพราะผู้พิการแต่ละคนไม่ได้พิการเหมือนกันหมดทุกราย บางคนอาจจะพิการแขน บางคนอาจพิการที่ขา บางคนพิการแค่ท่อนล่าง เดินไม่ได้ ในขณะที่บางคนพิการตั้งแต่คอลงไปเลยก็มี ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะกับความพิการของผู้ป่วยแต่ละคนย่อมจะสนองความต้องการได้อย่างเต็มรูปแบบและประสิทธิภาพมากกว่า
ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้นำอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นไปทดลองการใช้งานจริงกับทหารที่บาดเจ็บจากราชการสนามในหลายจังหวัดด้วยกันตามที่พักอาศัยของทหารเหล่านั้น ได้แก่ จังหวัดยะลา นครราชสีมา กาฬสินธุ์ และน่าน เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ ความพึงพอใจ และความต้องการของทหารที่บาดเจ็บจากราชการสนามถึงขั้นพิการ ซึ่งมีลักษณะของความบาดเจ็บและความพิการที่แตกต่างการเพื่อนำมาพัฒนาและแก้ไขในชิ้นงานต่อไปให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นในอนาคตโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าคณะนักวิจัยจะดำเนินการวิจัยเพื่อหาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเป็นศูนย์กลางที่จะประดิษฐ์อุปกรณ์และเป็นศูนย์เพื่อบริการสำหรับผู้พิการ ที่ครบวงจรประกอบด้วย Rehabilitation Zone , Learning Zone และ Independent living Zone ซึ่งอาจจะสามารถนำมาใช้ในการจัดการระบบฟื้นฟูผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอื่น ๆ ได้อีกนอกเหนือจากผู้พิการโดยเฉพาะในขณะนี้ทีมวิจัยสามารถคิดค้นรถสามล้อพลังงานไฟฟ้าควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ที่เคลื่อนที่แบบรถจักรยานยนต์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ขาพิการหรือบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุการบาดเจ็บไขสันหลัง (Paraplegia) ระดับดี แต่ยังสามารถใช้มือทั้งสองข้างได้ ตัวรถเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า ขับเคลื่อนแบบรถจักรยานยนต์
ประกอบด้วย สามล้อใหญ่และสองล้อเล็กซึ่งอยู่ตรงกลาง การออกตัวในการขับเคลื่อนด้วยการบิดคันเร่งที่มือด้านขวา สามารถปรับเกียร์การขับเคลื่อนให้รถวิ่งไปข้างหน้าและวิ่งถอยหลังได้ การเลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวามีไฟกระพริบอยู่ด้านหลัง มีไฟส่องสว่างอยู่ด้านหน้า และมีระบบการหยุดรถด้วยเบรกมือแบบก้ามปูพร้อม ๆ กับการลดคันเร่งเพื่อความปลอดภัย รถขับเคลื่อนด้วยดีซีมอเตอร์ ขนาด 350 วัตต์ แบตเตอร์รี่ ขนาด 12 โวลต์ สองลูกต่ออนุกรมกันให้มีกำลังไฟฟ้า 24 โวลต์ เคลื่อนที่ด้วยระบบมือหมุน สามารถถอดและประกอบล้อใหญ่ด้านหน้าออกจากตัวรถและปรับลูกล้อเล็ก 2 ล้อหน้าลงมาแตะพื้น รถสามล้อจะเป็นสี่ล้อเคลื่อนที่ด้วยการหมุนวงล้อด้วยมือตามปกติเพื่อให้สะดวกกับผู้ใช้งาน
แน่นอนว่า รถสามล้อไฟฟ้าเพื่อผู้พิการคันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เพราะต่อไปในอนาคต ทีมวิจัยจากทั้ง 3 หน่วยงาน ยังต้องร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความพิการของผู้พิการให้ได้รับความสะดวกสูงสุดต่อไปอย่างแน่นอน อีกทั้งถ้าหากประชาชนภาคเอกชนที่มีความสนใจ ก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ 086-8821475
มณีรัตน์ ปัญญพงษ์
กองประชาสัมพันธ์ราชมงคลธัญบุรี