เรารู้จัก “กะเพรา” ว่า เป็นพืชผักจำพวกเครื่องเทศที่ใช้ใบสดใบอ่อนในการประกอบอาหาร ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม ใบกะเพราใช้เป็นผักชูรส เช่น ผัดเผ็ด ผัดกะเพรา ฯลฯ กะเพรายังมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพร ทำให้เลือดลมดี แต่ใครจะรู้ว่า กะเพรายังสามารถนำไปย้อมผ้า และเกิดสีตามธรรมชาติได้อย่างสวยงาม
การค้นพบนี้เป็นผลงานของ ดร.เฉลียว หมัดอิ้ว จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลในสาขา Textile/Chemistry โดยคว้ามาได้ 4 รางวัล คือ รางวัลเหรียญเงิน (KIWIE 2012 Silver Medal) จาก KIWIE 2012,รางวัลเหรียญทอง (TIIIA Gold Medal) จาก Taiwan Invention & Innovation Industry Association, ประกาศนียบัตร (EWI Certificate)จาก European Women Inventor Association และประกาศนียบัตร (SOIPCertificate) จาก State Office of Industrial Property of the Republic of Macedonia ในงาน Korae International Women’s Invention Exposition 2012 ประเทศเกาหลีใต้
ซึ่งผลงานนี้ ดร.เฉลียวเปิดเผยว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจกะเพรา จนกระทั่งเกิดการศึกษาอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จนั้นเกิดจาก ในชีวิตประจำวัน ได้เห็นว่า กะเพราเป็นพืชที่ประเทศไทยนิยมบริโภคแทบจะทุกครัวเรือน เป็นพืชที่ปลูกง่าย และสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ดังนั้นตนจึงมองว่าหากนำกะเพรามาแปรรูปหรือทำประโยชน์ด้านอื่น เมื่อเกิดผลสำเร็จ ก็จะไม่มีการขาดแคลน เมื่อมีความต้องการมากๆ ซึ่งนั่นเป็นที่มาให้ ดร.เฉลียวเลือกที่จะศึกษา และนำกะเพรามาทำเป็นสีธรรมชาติ ใช้ย้อมผ้าฝ้าย ผ้าไหม จนกระทั่งประสบความสำเร็จดังที่ได้กล่าว
ดร.เฉลียวเล่าอีกว่า การใช้กะเพรามาสกัดเป็นสีย้อมผ้าในสิ่งทอสามารถใช้ได้ทั้งส่วนของ ต้น ใบ ยกเว้นรากเท่านั้น น้ำที่สกัดได้ จะได้สีโทนสีเขียว หลายเฉดแตกต่างกันไปตามลักษณะของใบ และต้นของกะเพราที่นำไปสกัดสามารถย้อมได้ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ย้อมได้ทั้งผ้าที่ทอแล้ว และเส้นใย สีที่ได้จะให้สีตามธรรมชาติของกะเพรา เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพด้วยการซัก ความทนต่อแดด ต่อการซัก และการขัดถูก็พบว่า อยู่ในระดับดี ที่สำคัญสีที่สกัดและการย้อมสีจากการสกัดกะเพรายังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แล้วยังเพิ่มมูลค่ากะเพราในเชิงอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ดร.เฉลียวยังได้บอกอีกว่า การศึกษาการย้อมผ้าด้วยกะเพราไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้เพราะอย่างที่ทราบว่า กะเพรามีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย ดังนั้นขั้นตอนต่อไปตนสนใจที่จะศึกษา และค้นคว้าให้ผ้า หรือเส้นใยที่ย้อมด้วยกะเพราสามารถต่อต้านแบคทีเรียได้อีกด้วย