รันเวย์แข่งฝัน ประชันความคิดสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ เริ่มขึ้นอีกครั้ง ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นใน ไทรอัมพ์ (Triumph) จัดงานแสดงแฟชั่นโชว์ชุดชั้นในจากผลงานของผู้เข้ารอบจากทั่วโลก 31 ประเทศ พร้อมตัดสินหาผู้ชนะเลิศในโครงการเฟ้นหานักออกแบบ ชุดชั้นในรุ่นใหม่ที่ไทรอัมพ์จัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 5 โครงการส่งเสริมและสรรหาดีไซเนอร์รุ่นเยาว์ หรือ Triumph Inspiration Award 2012 (TIA 2012)
เกิดขึ้นเพื่อปลุกพลังฝันของคนหนุ่มสาวที่อยากมาเดินบนเส้นทางแฟชั่น เปิดโอกาสให้จินตนาการผลักแรงบันดาลใจ ออกเป็นชุดชั้นในสตรี ที่สวมใส่ได้สวยงามและผลิตได้จริง โดยเฉพาะชุดชั้นในที่นักออกแบบหลายคนอาจมองข้าม เพราะสาระของเสื้อชั้นในนั้นก็เพื่อการสวมใส่สบายตัว เหมาะกับรูปร่างและส่งเสริมให้เสื้อผ้าชั้นนอกดูดีและเชื่อมั่น ในขณะเดียวกันก็ต้องดูสวยงาม เซ็กซี่ น่ารัก หรือหรูวิจิตร ตามที่ผู้สวมใส่ต้องการ ดังนั้นจะออกแบบชุดชั้นในที่อยู่ข้างในก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ …
มิส Marve Liebelt ตำแหน่ง Head of Creative Communication & Marketing Services ให้ความเห็นว่า
“ไทรอัมพ์จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อค้นหาผลงานดี ๆ จากนักออกแบบรุ่นใหม่และเพื่อสนับสนุนให้เข้าสู่วงการนี้มากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี เรามีนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ แต่เมื่อสำรวจผลงานจากปีก่อน ๆ มักพบว่าอาจเนื่องจากความเป็นคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อย พวกเขามีครีเอทีฟที่ดีมาก มีจินตนาการที่สะท้อนสู่ผลงานได้ดี แต่เมื่อคิดถึงการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ อาจต้องปรับแบบหรือลดทอนบ้าง เพราะเมื่อเป็นชุดชั้นในที่สวมใส่จริง ๆ แล้ว ผู้หญิงก็อยากได้ชุดชั้นในที่จะสวมใส่สบายตัว มีความยืดหยุ่น ให้เคลื่อนไหวคล่องตัว กระชับพอดีกับรูปร่างหรือสวมใส่แล้วมั่นใจ บางคนอาจชอบชุดชั้นในลูกไม้เยอะ ๆ ดูเซ็กซี่ แต่การผลิตจริงก็ต้องคำนึงถึงการสวมใส่ที่สบายตัวด้วย”
TIA 2008 ปีแรกจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพียงปีแรก ผู้บริหารไทรอัมพ์บอกว่า มีนักศึกษาราว 2,500 คนจากทั่วโลก ที่เฝ้าดู รอคอย มีส่วนร่วมหรือเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้าย โดยแต่ละปี ไทรอัมพ์ กำหนดแนวคิดหรือธีมเป็นโจทย์ที่แตกต่างกัน แล้วให้ผู้สนใจส่งผลงานออกแบบด้วยส่งภาพสเก็ตช์ตามแนวคิด พร้อมบอกเล่าที่มาของผลงาน เช่น ปีแรกโจทย์ที่ให้คือ Female Fascination ผู้เข้าแข่งขันส่งผลงานตามโจทย์ กรอกใบสมัคร จากนั้นก็รอผล
เข้ารอบราว 2 เดือน โดยวัตถุประสงค์ของผู้จัดต้องการคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษา
หรือผู้กำลังเรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไป ในแต่ละประเทศซึ่ง
มีสถานศึกษาที่สามารถรวบรวมผลงานของผู้สนใจส่งประกวดและคัดเลือกให้เหลือ 15 ผลงานสุดท้าย จากนั้นจัดเวิร์คชอปกับดีไซเนอร์ประจำประเทศนั้น ๆ ให้ทุน
การผลิตจริง สร้างงานจริงแล้วตัดสินหาผู้ชนะเลิศประจำประเทศ 1 คน เพื่อส่งไปรอบสุดท้าย
ดังนั้นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มส่งผลงานจนถึงรอบสุดท้ายที่ต้องไปประชัน
อวดฝีมือกันกับนักออกแบบรุ่นเยาว์จากหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องท้าทายและน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง และปีนี้ วอร์ม – พรวิจิตร เชือสมบูรณ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นักศึกษาหนุ่มปีที่สามฝ่าด่านนักออกแบบไทยรุ่นใหม่หลายคนเข้าสู่รอบสุดท้าย เดินทางจากบ้านมาถึงเซี่ยงไฮ้ เขาบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางออกนอกประเทศ
ยังก์ดีไซเนอร์ของไทย ขับแรงบันดาลใจมาจากนิทานที่มีเจ้าหญิงผีเสื้อ ได้บินล่องลอยไปในธรรมชาติที่งดงามจนหลงเข้าไปในเมืองของมังกร ทำให้พบรักกับเจ้าชายมังกร แต่ด้วยชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันจึงทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถครองรักกันได้ แต่ด้วยอานุภาพของความรัก เจ้าชายได้มอบไข่มุกให้กับเจ้าหญิงผีเสื้อ เพื่อเป็นตัวแทนความรัก ผลงานของเขาตั้งชื่อว่า Dragon and Butterfly Princess ที่นำจินตนาการมาสู่ความงามของชุดชั้นใน สะท้อนรูปลักษณ์ตามโจทย์ หนุ่มวอร์มเล่าว่า “คอนเซปต์ที่ให้ไปนี้ต้องไปพรีเซนต์กับคณะกรรมการเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อสื่อว่าเราออกแบบได้ตรงตามธีมที่กำหนด ซึ่งปีนี้ผมว่าโจทย์ง่ายกว่าปีที่แล้วที่เป็นผ้าไหม ผมนึกถึงผีเสื้อ ปีกที่สวยงาม อ่อนหวาน ผนวกกับความแข็งแรงของมังกร ออกแบบเป็นชุดชั้นใน สองชิ้นสีดำ ตอนแรกเลยใช้สีน้ำเงินไล่เฉดสีจนถึงดำ เพราะดูจากปีกผีเสื้อชนิดหนึ่ง คณะกรรมการให้ความเห็นว่าไม่สวยน่าจะเป็นสีดำ ไล่เฉดอ่อนจนถึงเข้ม ผมก็เลือกใช้การไล่เฉดสีกับลักษณะของเนื้อผ้าจากบางไปหนา และสีดำจะให้ความรู้สึกถึงความสง่า สงบ และเซ็กซี่ ซึ่งผ้าที่ใช้ตัดเย็บไทรอัมพ์ให้ผ้าค็อตต้อน สแปนเด็กซ์ ที่มีเนื้อนิ่มลื่น เป็นชุดที่มีเส้นเยอะ ใช้ผ้าดำยัดเส้นเชือกเล็ก ๆ ทำเป็นไส้ไก่ ส่วนตัวทรงไล่เฉดสีจากผ้าเนื้อบางไปเฉดสีดำ ตรงมุมใช้เชือกขดทีละเส้น ๆ เป็นรูปก้นหอย และใช้เส้นโยงจากตัวบราลงไปถึงบิกินีที่มีเชือกขดเป็นเส้นอีก ดีไซน์ของชุดดึงลักษณะของฟอร์มตัวมังกรกับลวดลายของผีเสื้อ โดยเฉพาะผ้าคลุมเนื้อโปร่งบางตกแต่งลูกไม้ เป็นลายของปีกผีเสื้อ ด้านหลังของชุดก็ออกแบบเป็นรูปผีเสื้อ” งานออกแบบของหนุ่มไทยไม่หนีคอนเซปต์ที่ได้ พร้อมเงื่อนไขอีกอย่างที่ยังก์ดีไซเนอร์ทุกคนตระหนักคือ ต้องเป็นชุดชั้นในที่ปรับใช้ได้จริง แต่ยังคงอินสไปเรชั่น “มังกรและผีเสื้อ”
“รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมาก เป็นประสบการณ์ที่ดีไม่ว่าจะชนะหรือไม่ .. ผมคิดว่าทำเต็มที่และคิดว่างานของเราก็สวยไม่แพ้ชาติอื่น”
ก่อนวันตัดสิน… นักออกแบบไทยต้องเตรียมตัวฟิตติ้งชุดกับนางแบบ สำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ตกแต่งทุกชิ้น เมื่อถึงวันจริงก็อยู่ข้างหลังเวที แต่งตัวให้นางแบบ เขาบอกว่าไทรอัมพ์จัดเตรียมทุกอย่างพร้อม มีช่างแต่งหน้า-ทำผม ดูแลให้ตรงตามรูปแบบที่จัดถ่ายรูปเอาไว้ เขาแค่ฟิตติ้งชุดให้ดูดี พร้อมออกเดินเป็นลำดับที่สอง จากนั้นก็รอลุ้น…
เวลาใกล้ทุ่มที่ Minsheng Art Museum สถานที่จัดแฟชั่นโชว์รอบตัดสิน รันเวย์เริ่มร้อน คณะกรรมการ 6 ท่าน ประจำจุด ณ ที่นั่งแถวหน้า ทุกคนตั้งตาคอยชมผลงานของนักออกแบบหนุ่มสาว จาก 31 ประเทศ กับผู้ชม กองเชียร์ และสื่อมวลชน ร่วมชมพร้อมให้คะแนนอยู่ในใจ จนเมื่อนางแบบจบขบวนพาเหรดครบ 31 ชุด สักพักคะแนนตัดสินก็ออกมา ปีนี้ ผู้ชนะเลิศเป็นผลงานชื่อ Ecliptic Renewal จากนักศึกษาสาว Sian Whitefoot จากมหาวิทยาลัย Demontfort จากประเทศอังกฤษ จากแรงบันดาลใจของดักแด้ รังไข่ กลายร่างเป็นผีเสื้อ เมื่อมองจากภาพขยายแล้วจะเห็นลวดลายและรายละเอียดของเส้นสาย ชุดของเธอตกแต่งด้วยลูกไม้ ลูกปัด บนเนื้อผ้าขาวบางเบาประดุจปีกผีเสื้อ เป็นชุดชั้นใน สีขาวทั้งตัว ดูอ่อนหวาน บอบบาง ผู้ได้อันดับที่สองเป็นนักออกแบบสาวจากประเทศอิตาลี Alla Polozenko กับผลงานชื่อ Dragon & Butterfly Infinity ในชุดชั้นในชิ้นเดียวสีเบจแนบเนื้อที่เธอบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากศิลปะภาพวาดจีน และตัวอักษรจีน บนโครงร่างตัวเสื้อที่มีเส้นสายอ่อนโค้งเหมือนปีกผีเสื้อ อันดับที่สามเป็นผลงานของ Luca Beke จากประเทศฮังการี ชื่อ Reborn Warrior ที่มีรูปแบบเหมือนมังกรในชุดชั้นในเกาะอกชิ้นเดียวเฉดสีเทอราค็อตต้าจากชุดนักรบชาวจีน ตัวชุดใช้หนังตัดเป็นชิ้นๆ ติดทับลงบนผ้า ด้านหลังบิกินีเป็นเหมือนปีกผีเสื้อ
รางวัลของผู้ชนะเลิศนอกจากเงินสด 15,000 ยูโร (ที่สอง 10,000 ยูโร, ที่สาม 5,000 ยูโร) ยังได้รับสิทธิ์ที่ไทรอัมพ์นำผลงานไปตัดเป็นชุดจริงเพื่อวางจำหน่ายในปีถัดไป เป็นคอลเลคชั่นพิเศษของแบรนด์ Triumph ที่บอกว่าเวทีนี้มีมากกว่าถ้วยรางวัลและเสียงปรบมือ คณะกรรมการได้แก่ Matthew Williamson ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ, Bonnie Chen นางแบบจากประเทศจีน, Wing Shya ช่างภาพชื่อดังจากประเทศจีน, Karen Mok นักร้องนักแสดงจากฮ่องกง, Uma Wang ดีไซเนอร์ และ Franca Sozzani บรรณาธิการนิตยสารโว้ค อิตาลี ที่ให้ความเห็นในฐานะตัวแทนคณะกรรมการประกาศชื่อผู้ชนะเลิศ เธอบอกว่าเป็นผลงานที่สวยงาม มีความอ่อนหวาน น่ารัก และดูสง่างาม สามารถสะท้อนแรงบันดาลใจสู่ผลงาน ได้ดี สำหรับภาพสวยๆ ของนางแบบก่อนเดินแบบจริง ถ่ายภาพโดยหนึ่งในคณะกรรมการ Wing Shya ที่สะท้อนความงามอ่อนไหวของผีเสื้อและความสง่างาม ของมังกร เป็นภาพนางแบบร่อนถลา บินไหว เบื้องหลัง คือเขาให้นางแบบสวมใส่ชุด กระโดดแล้วจับภาพ ช่างภาพชื่อดังบอกว่า เทรนด์ภาพแฟชั่นที่กำลังมาตอนนี้ เป็นวิดีโอแฟชั่น ที่เคลื่อนไหวได้ เพื่อให้อารมณ์และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับผลงานครั้งนี้ ที่เขาถ่ายทอดความงามของชุดชั้นในออกเป็นผีเสื้อและมังกร กำลังโบยบิน
เรื่อง : เอื้อพันธุ์ ศรีสุนทร
ภาพ : Triumph Inspiration Award