กระตุ้นทุกภาคส่วน…เตรียมความพร้อมปรับตัวรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนหรือเออีซี ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งอาชีพเกษตรกร กระดูกสันหลังของชาติ อย่างชาวนาไทย
เพราะทุกวันนี้.หากจะปลูกข้าวขายโดยหวังแต่ปริมาณหรือยอดการส่งออก คงสู้เพื่อนบ้านที่แรงงานถูกกว่าไม่ได้
…ทำอย่างไรข้าวในปริมาณเท่าเดิม ถึงจะเพิ่มมูลค่า.
“นวัตกรรม” คือหนึ่งในคำตอบ และได้รับการผลักดันจากมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. มาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปี
“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ประธานกรรมการ มูลนิธิข้าวไทยฯ บอกว่า ข้าวเป็นพืชที่ใครก็ปลูกกันได้ เมื่อเข้าสู่ เออีซี จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เวียดนาม เขมร ยิ่งมีความตื่นตัวที่พยายามสร้างโอกาสในการแข่งขันด้านการค้ากับประเทศไทย ซึ่งประเทศเหล่านั้น มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก รวมถึงค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าด้วย
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องพยายามยกระดับการปลูกข้าวของเกษตรกรไทยโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ ระบบชลประทาน การเก็บเกี่ยวและรักษา รวมไปถึงการสร้างความแตกต่างให้กับผลผลิตข้าวด้วยการใส่ความคิดสร้างสรรค์บวกกับภูมิปัญญาที่มีอยู่ เพื่อยกระดับการส่งออกข้าวไทย
อย่างเช่น “ครีมเคลือบเงาอเนกประสงค์สำหรับอุปกรณ์ภายในรถยนต์จากน้ำมันรำข้าวอินทรีย์” ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปีนี้
“นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ” กรรมการผู้จัดการบริษัท อู่ข้าว อู่น้ำ จำกัด เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศบอกถึงที่มาของนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยว่า เนื่องจากเป็นชาวอยุธยา อู่ข้าว อู่น้ำของไทย และตระหนักในคุณค่าของข้าวไทย จึงคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้ทุกส่วนของข้าว
ซึ่งที่ผ่านมาได้ความร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ นำผลผลิตจากข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษมาผลิตเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวพรรณและวันนี้…ได้ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ครีมเคลือบเงาอเนกประสงค์ที่เหมาะสำหรับอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ตอบโจทย์ คนรักรถที่ไม่ชอบกลิ่นสารเคมี
คุณพรทิพย์ บอกอีกว่า จุดเด่นของผลงานนี้ก็คือการเพิ่มมูลค่าให้กับกากน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต โดยสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 30 เท่า
สามารถทดแทนการใช้ไขสังเคราะห์ที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือไขจากธรรมชาติ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ที่สำคัญคือปราศจากกลิ่นเหม็นและปลอดภัยจากสารเคมี สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ได้จากสารแกมมาออริซานอล ซึ่งเป็นสารสำคัญในน้ำมันรำข้าว ลดการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ภายในรถยนต์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ประเภทเบาะหนัง และชิ้นส่วนบริเวณหน้าปัดรถ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้มีการผลิตจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดแล้วในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพร้อมจะขยายตลาดไปทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบอาเซียนอีกด้วย
นอกจากนี้การประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยยังมีอีกหลายผลงานที่โดดเด่น
เช่น “ครีมบำรุงผิวจากน้ำมันรำข้าว” ของบริษัทสยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 โดยถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำคุณสมบัติเด่นของน้ำมันรำข้าว และเนยขาวจากน้ำมันรำข้าวมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
ส่วนรางวัลที่ 3 ซึ่งมี 2 รางวัล คือ “คอนกรีตบล็อกเขียวอีวีเอผสมเถ้าแกลบ” ผลงานวิจัยของหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ใช้เศษพลาสติกอีวีเอบดย่อยทดแทนหินฝุ่นบางส่วน และใช้เถ้าแกลบบดละเอียดเป็นวัสดุปอซโซลานแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วน ทำให้ได้คอนกรีตบล็อก ที่รับแรงเหมือนคอนกรีตบล็อกปกติ แต่มีน้ำหนักเบา และสามารถเป็นฉนวนความร้อนเท่ากับอิฐบล็อกมวลเบา มีความยืดหยุ่นตัวสูง ไม่แตกหักขณะขนส่งหรือก่อสร้าง
และ ผลงาน “สังขยาแผ่นจากแป้งข้าวกล้องงอก” ของภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สามารถออกแบบสังขยาที่คุ้นเคยให้มีความทันสมัยคล้ายกับแผ่นชีส สะดวกในการรับประทานและเก็บรักษา และเหมาะสำหรับคนที่แพ้โปรตีนจากข้าวสาลีเพราะสังขยายุคใหม่นี้ทำมาจากแป้งข้าวกล้องงอก
ชื่นชมกับความคิดที่หลากหลาย เชื่อว่าอนาคต ไม่ว่าไทยจะส่งออกข้าวเป็นลำดับที่เท่าใด ก็คงไม่สำคัญเท่ากับมูลค่าเพิ่มที่จะได้รับจากการพัฒนาคุณค่าของข้าวไทย.