“สับปะรด” ถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย
ทั้งในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างการทำผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง ที่ไทยสามารถส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือเล็กลงมาเป็นธุรกิจในชุมชนหรือครัวเรือนในการแปรรูปเป็นสับปะรดแช่อิ่ม อบแห้ง หรือบรรจุกระป๋อง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้วิธีทำ จะต้องผ่านกระบวนการหั่นเป็นแว่น ๆ ก่อน
การแปรรูปสับปะรดในธุรกิจระบบชุมชนหรือครัวเรือน การหั่นสับปะรดเป็นแว่น ๆ ทางชาวบ้านจะทำการหั่นกันเองในครัวเรือน แต่เมื่อความต้องการสับปะรดแปรรูปมีจำนวนมากขึ้น การใช้แรงงานคนในชุมชนหรือครัวเรือน ไม่สามารถทำตามความต้องการเพื่อที่จะนำไปทำสับปะรดแช่อิ่ม อบแห้ง และบรรจุกระป๋อง ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
นายธรรมพล เกษมสุขสถาพรและนายธีรพงศ์ ทัศนาลัย นักศึกษาจาก ภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงได้ร่วมมือกันออกแบบและสร้างเครื่องหั่นสับปะรดให้มีลักษณะเป็นแว่นทดแทนแรงงานคนในการผลิต สำหรับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ
น้อง ๆ ทั้งสองร่วมกันบอกว่า ความตั้งใจและริเริ่มออกแบบและสร้างเครื่องมือนี้ขึ้น ก็เพื่อจะต้องการช่วยแบ่งเบาและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น เนื่องจากการใช้แรงงานคนในการหั่นสับปะรดเป็นแว่น ๆ จะทำให้ได้ผลผลิตน้อย และใช้เวลาในการทำงานนาน และยังส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นเกิดความล้าของร่างกายขณะปฏิบัติงาน จึงร่วมกันคิดและประดิษฐ์เครื่องหั่นสับปะรดเป็นแว่น ๆ ขึ้นมา
โดยตัวเครื่องประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือ โครงสร้างเครื่อง ชุดส่งกำลัง ชุดใบมีด และ ชุดลำเลียง ใช้มอเตอร์เป็นต้นกำลังในการทำงาน สำหรับการใช้งานของเครื่องเริ่มจากผู้ปฏิบัติงานทำการป้อนสับปะรดทางด้านบนของเครื่อง หลังจากนั้นสับปะรดจะถูกส่งไปยังชุดใบมีด และชุดใบมีดจะหั่นสับปะรดเป็นแว่น หลังจากนั้นเนื้อสับปะรดที่ถูกหั่นเป็นแว่นจะไหลมาทางชุดลำเลียงเพื่อลงสู่ถาดที่วางอยู่ภายหน้าของเครื่อง
น้องทั้งสอง กล่าวต่อว่า หลังทำการพัฒนาเครื่องจนสำเร็จและได้ทำการทดลองพบว่า เครื่องหั่นแว่นสับปะรดจะทำงานได้ดีกับสับปะรดพันธุ์ศรีราชา โดยสามารถหั่นได้ 194 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ขณะที่หากเป็นพันธุ์ปัตตาเวียสามารถหั่นได้ 138 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
สุดท้ายเจ้าของงานประดิษฐ์บอกว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่พวกตนได้ศึกษาและประดิษฐ์เครื่องต้นแบบเครื่องหั่นแว่นสับปะรดนี้ จะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ให้กับชาวบ้านและเกษตรกรในการประกอบอาชีพต่อไป.