Wheelchair พับได้ ตัวแรกของประเทศไทย รถเข็นคนพิการแบบพับได้ ควบคุมด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ ตัวแรกของประเทศไทย ฝีมืออาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ราคาย่อมเยาว์ 25,000 บาท/คัน ใช้วัสดุที่มีในประเทศไทย ประสิทธิภาพเทียบเท่ารถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าทั่วไป ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี เจ้าของผลงาน เล่าว่า รถเข็น คนพิการแบบพับได้ ควบคุมด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ (Wheelchair รุ่นที่ 2) ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Wheelchair รุ่นที่ 1 โดยเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีกับ
ผศ.นพ.นิยม ลออปักษิณ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เนื่องจากเมื่อปี 2552 ได้พัฒนา Wheelchair รุ่นที่ 1 ซึ่งมีหลักในการทำงาน ขับเคลื่อนล้อหลัง 2 ล้อ โดยมีล้อหน้าเป็นตัวกำหนดทิศทาง การควบคุมจะใช้ ไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC16F877 เป็นตัวควบคุม ผ่าน Keypad เมื่อกดปุ่ม หมายเลข 2 รถจะเคลื่อนที่เดินหน้า หมายเลข 8 รถจะเคลื่อนที่ถอยหลังหมายเลข 4 รถจะเคลื่อนที่เลี้ยวซ้าย หมายเลข 6 รถจะเคลื่อนที่เลี้ยวขวา มีชุดชาร์ตไฟฟ้า ในตัวรถเองแข็งแรงทนทาน โดยมีข้อจำกัด คือ มีราคาแพง ราคาประมาณ 40,000 บาท น้ำหนักมากและไม่สามารถพับเก็บได้ เมื่อไฟฟ้าหมดไม่สามารถเข็นได้(น้ำหนักมาก) การเลี้ยวด้วย Keypad ไม่ค่อยคล่องตัวเท่าที่ควร
โดยได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจจำนวนมาก เนื่องจากข้อเสียดังกล่าวจึงได้คิดพัฒนา Wheelchair รุ่นที่ 2 ขึ้นมา เพื่อเป็นการให้โอกาสสำหรับผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ซึ่งหลักการในงานทำมีล้อหลังเป็นชุดควบคุมการเดินหน้าและถอยหลัง และเลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา การควบคุมจะใช้ ไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC16F877 เป็นตัวควบคุม ผ่าน Joystick เมื่อโยก Joystick ไปด้านหน้า รถจะเคลื่อนที่เดินหน้า เมื่อโยก Joystick ไปด้านหลัง รถจะเคลื่อนที่ถอยหลัง เมื่อโยก Joystick ไปด้านซ้าย รถจะเคลื่อนที่เลี้ยวซ้าย เมื่อโยก Joystick ไปด้านขวา รถจะเคลื่อนที่เลี้ยวขวา
จุดเด่นของ Wheelchair รุ่นที่ 2 ที่พัฒนามีราคาถูกเมื่อเทียบกับรถควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าทั่วไป โดยราคาอยู่ที่ 160,000 บาท/คัน แต่ Wheelchair ที่พัฒนาขึ้นมาราคาอยู่ที่ 25,000 บาท รถสามารถถอดแยกชุดควบคุมกับตัวรถได้เมื่อต้องเดินทางไกลสามารถเก็บพับได้ การเคลื่อนที่คล่องตัวมากเลี้ยวตัวด้วย Joystick เมื่อไฟฟ้าหมดผู้ใช้สามารถเข็นรถได้ปกติ (ขายในท้องตลาดไม่สามารถเข็นได้) แบตเตอรี่ใช้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยใช้ไฟ 24 โวลต์ต่อแบบอนุกรม สามารถรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ 100 กิโลกรัม ข้อจำกัด ไม่มีชุดชาร์ตไฟฟ้าในตัวรถ จะมีชุดควบคุมอยู่ด้านหลังตัวรถ มุมเลี้ยวไม่สามารถเลี้ยวได้ 90 องศา เนื่องจากติดชุดกล่องควบคุม ปัจจุบันอาจารย์ได้จดลิขสิทธิ์เจ้าตัว Wheelchair ในชื่อ รถเข็นคนพิการแบบพับได้ ควบคุมด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นคันแรกของเมืองไทย ซึ่งถือว่ามีราคาถูก และมีประสิทธิภาพเหมาะกับยุคเศรษฐกิจ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.เดชฤทธิ์ 086-8821475