นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ร่วมกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการ ล่าสุด สามารถประดิษฐ์รถสำหรับผู้พิการควบคุมด้วยศีรษะขึ้นเป็นผลสำเร็จ
ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม จาก มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากแนวคิดแรกเริ่มของ ผศ.นพ.นิยม ละออปักษิณ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มีความตั้งใจให้ผู้พิการได้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับอำนวยความสะดวกได้อย่างทั่วถึง และการพัฒนาครั้งนี้ ก็ด้วยเล็งเห็นว่า ผู้พิการที่ไม่มีแขน ไม่มีขาทั้งสองข้าง จะถูกจับให้นอนอยู่เฉยๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจากข้อมูลพื้นฐานทราบว่า ผู้พิการประเภทนี้ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากพอสมควร แต่ ยังไม่มีผู้คิดประดิษฐ์รถสำหรับผู้พิการ กลุ่มไม่มีแขนและขาในการใช้งาน ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบายของผู้พิการ จึงได้เกิดแนวคิดและพัฒนา รถสำหรับผู้พิการที่ควบคุมด้วยศีรษะขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ
รถสำหรับผู้พิการควบคุมด้วยศีรษะ หรือ ไจโรสโคป ที่พัฒนาขึ้นนี้ ดร.เดชฤทธิ์ อธิบายให้ฟังว่า รถสำหรับผู้พิการคันนี้มีลักษณะเหมือนกับรถเข็นสำหรับผู้พิการทั่วไป แต่ความพิเศษคือ มันสามารถควบคุมและสั่งงานได้ด้วยศีรษะ ทั้งนี้เป็นการคิดค้นขึ้นมาสำหรับผู้พิการที่ไม่มีแขนและขา ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องนอนแต่อยู่บนเตียงตลอดเวลา
ทั้งนี้รถคันนี้จะทำงานด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยใช้สารกึ่งตัวนำชนิดหนึ่งที่ใช้จับความเอียงของมุม ที่เรียกว่า ไจโรสโคป นำมาต่อสัญญาณไว้กับอุปกรณ์ที่สามารถสวมศีรษะของผู้พิการได้ การทำงานเพียงแค่ผู้พิการนั่งบนรถและสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะไว้ จากนั้นก็สามารถสั่งการได้ด้วยตัวเอง เพียงการก้มหน้าเพียงเล็กน้อย (โดยประมาณ 10 องศา) รถเข็นก็จะเดินหน้า การเงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย รถเข็นก็จะถอยหลัง ส่วนการเลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา ก็เพียงแต่เอียงศีรษะไปทางด้านขวาหรือด้านซ้ายในมุมเล็กน้อย (โดยประมาณ 10 องศา) รถเข็นก็จะเลี้ยวไปตามทางที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ผู้วิจัยยังได้ มีระบบความปลอดภัย ไว้ถึง 2 ตำแหน่ง คือ บริเวณของรถจะมีเซ็นเซอร์ที่ส่งสัญญาณไปกระทบวัตถุด้านหน้า เมื่อรถวิ่งเข้าหาวัตถุที่ขวางอยู่ข้างหน้า ประมาณ 1 เมตร รถจะหยุดการทำงาน อีกตำแหน่งหนึ่งคือ สวิทซ์สัญญาณไฟฟ้า เมื่อผู้ใช้ต้องการหยุดรถ ใช้พิงหลังที่พนักเพื่อกดสวิทซ์สั่งการให้ตัดสัญญาณไฟฟ้าทั้งระบบ รถก็จะหยุดการเคลื่อนที่ทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้พิการในประเทศไทยยังขาดอุปกรณ์และมีใช้ยังไม่ทั่วถึง ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ และที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาและประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับผู้พิการ สามารถบริจาคเป็นเงินกองทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับช่วยผู้พิการ ท่านสามารถติดต่อบริจาคสมทบทุนได้ โดยสามรถสอบถามรายละเอียดไปได้ที่ ผศ.นพ.นิยม ละออปักษิณ หมายเลขโทรศัพท์ 081-9146249
เขียนโดย : มณีรัตน์ ปัญญพงษ์ กองประชาสัมพันธ์ราชมงคลธัญบุรี