“ความสำเร็จของพวกเราเริ่มมาจากวิชาเรียน การนำเศษวัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นเฟอร์นิเจอร์ ” เสียงบอกเล่า จาก ทีม Straw Design ประกอบด้วย “ปังปอนด์” นานวิชาญ ธีระภาพ “กลอฟ์” นายปริญญา กันหริ “บอล” นายนิติภูมิ เดชวงศ์ยา และ “บอย” นายธวัชชัย อนันตพัฒนา 4 หนุ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้ชนะเลิศจากการประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ปี 2554 ระดับอาชีวศึกษา (ปวส)/อุดมศึกษา และได้รับถ้วยรางวัลประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
4 หนุ่ม เล่าว่า ผลงาน Straw Design ได้แนวคิดมาจากต้องการดีไซน์ของเหลือใช้จากการทำนาข้าวให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยเลือกวัสดุ คือ ฟางข้าว ที่เป็นของเหลือใช้ที่มีมากที่สุด ซึ่งเปอร์เซ็นต์ในการโดนทำลายค่อนข้างสูง มาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวของฟางข้าว โดยนำมาดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ เป็นโซฟาเดี่ยว ต้องการโชว์คุณสมบัติและข้อดีของฟางข้าว นอกจากฟางข้าวใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) เป็นแหล่งพลังงานที่ปราศจากคาบอน ถูกนำไปใช้มากยิ่งขึ้นโดยในพลังงานที่เรียกว่า ไบโอบูตานอล (biobutanol) ในโรงงานพลังงานมวลชีวภาพ(Biomass) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มประเทศอียู(EU) ทั้งนี้โดยใช้ฟางอัดฟางก้อนโดยตรงบ้าง ใช้ฟางอัดเป็นเมล็ดสำหรับเป็นอาหารสัตว์บ้าง ใช้ฟางอัดเป็นเมล็ดเพื่อเป็นเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานสูงพอๆกับถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติบ้าง ยัดเป็นที่นอนของมนุษย์และสัตว์ (Bedding humans or livestock) ซึ่งที่นอนแบบนี้มีใช้กันอยู่ตามส่วนต่างๆของโลก ใช้เลี้ยงสัตว์ (Animal feed) เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ เพราะให้พลังงานสูง ย่อยง่าย และมีคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ยังใช้ทำหมวกและภาชนะสานต่างๆ
จุดเด่นของ Straw Design ที่ขึ้นฟอร์มขึ้นมา ต้องการโชว์การรับน้ำหนักของฟางข้าวโดยไม่ต้องมีวัสดุอื่นๆ มาเป็นโครงสร้าง และที่สำคัญ โซฟานี้ไม่มีโครงสร้างอื่นๆ เลย แต่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของฟางข้างเอง เน้นความเรียบง่าย ดูพื้นบ้าน แต่แฝงไปด้วยความคิดที่ ยั่งยืน สามารถต่อยอดเพื่ออนาคตได้ นอกจากนี้ยังได้นำแนวความคิดของพ่อหลวง ที่ว่า “อยู่อย่างพอเพียง” เข้ามาใช้ในการออกแบบอีกด้วย วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ Straw Design ประกอบด้วย ฟาง เชือกเย็บกระสอบ เข็มเย็บกระสอบ และเล็กเกอร์ ขั้นตอนการทำเริ่มจาก 1.นำฟางเป็นมัดๆ เริ่มจากขดเล็กๆบริเวณตรงกลาง 2.เย็บวนไปเรื่อยๆ จนได้ขนาด รอบวง 50 เซนติเมตร ตามที่กำหนดไว้ 3. เมื่อได้ขนาดที่นั่ง 50 เซนติเมตรแล้ว ให้ดัดฟางและเย็บวนลงเป็นฐานสตู 4.ทำวงไปเรื่อยๆ จนได้ความสูงที่ 45 เซนติเมตร ตามต้องการ 5.เย็บปิดท้าย ขั้นตอนเหมือนขึ้นตอนที่ 1 เพียงแต่เย็บจากด้านนอกเข้าด้านใน 6. เมื่อเสร็จแล้ว นำกรรไกร เล็มบริเวณที่มีฟางโผล่ออกมา เพื่อไม่ให้ทิ่ม ขณะนั่ง หรือทำให้คันได้ 7.ทาเล็กเกอร์ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วทาวนซ้ำ จนได้พื้นผิวที่พอใจ ค่าใช้จ่ายในการผลิต เฟอร์นิเจอร์ ต่อ 1ตัว ประมาณ 1590 บาท
ดีใจและภูมิใจ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยฯ เป็นเกียรติกับครอบครัวจะได้เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขอขอบคุณ อ.จิราวรรณ ศิริวานิชกุล และ อ.พิมพ์ณภัท จันทร์ศรี ที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ “จากฟางที่เป็นผลพลอยได้จากการปลูกข้าวของชาวนา กลายมาเป็นโซฟา ไอเดียเจ๋งๆ ที่สามารถงานได้จริง” ทั้ง 4 หนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
เขียนโดย : ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994