หากพูดถึงการนำเอาก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเป็นก๊าซหุงตุ้มภายในครัวเรือนก็ต้องบอกว่า นั่นคงเป็นเรื่องที่เราทราบและรู้จักกันอย่างกว้างขวางไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประโยชน์จากมูลสุกรจะมีเพียงแค่นี้ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งศึกษาก็ยิ่งพบว่า ก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสุกรยังสามารถทำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นได้อีกมากมายอย่างที่ คณะครุสาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้นำเอาก๊าซชีวภาพ มาใช้กับรถยนต์กันแล้ว
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นายชัยรัตน์ หงส์ทองและเกรียงไกร แซมสีม่วง ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน เล่าว่า เหตุที่ทำให้สนใจศึกษาการนำก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาใช้กับเครื่องยนต์นเพราะ ในปัจจุบันประชาชนรู้จักการนำเอาก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรไปใช้อย่างแพร่หลายก็จริง หากแต่ ในบางครั้งการเลี้ยงสุกร ที่มีการผลิตก๊าซชีวภาพได้เป็นปริมาณมาก แต่กลับใช้ปริมาณการใช้ก๊าซชีวภาพน้อย เมื่อบ่อที่เก็บก๊าซชีวภาพเต็มปริมาณการที่จะสามารถรับได้จะต้องมีการระบายก๊าซชีวภาพที่เหลือเหล่านั้นปล่อยทิ้งไป อีกทั้งในกระบวนการหมักจะเกิดก๊าซมีเทน,ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่น ๆ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไนโตรเจน ก๊าซเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกไปมีผลต่อชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนที่โลกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้เอง พวกตนจึงนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสุกรมาบรรจุลงถังและนำมาใช้กับเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซีในรถยนต์นิสสัน ติดตั้งถังก๊าซ LPG ขนาด 58 ลิตร เพื่อหาประสิทธิภาพการใช้งานของก๊าซชีวภาพที่ใช้กับรถยนต์ต่อไป ซึ่งจะได้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพที่ได้ จากมูลสุกรให้เป็นพลังงานที่จะสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต
จากการบรรจุก๊าซชีวภาพลงถังด้วยชุดบรรจุก๊าซชีวภาพแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1 แรงม้า เป็นต้นกำลังบรรจุก๊าซชีวภาพแรงดัน 200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลาเฉลี่ยในการบรรจุก๊าซชีวภาพ 11.41 นาที หลังจากนั้นนำไปทำการขับบนถนนเพื่อทดสอบหาประสิทธิภาพ แล้วพบว่าการขับเคลื่อน ตั้งแต่เริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ไปจนถึงความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำการ ควบคุมความเร็วไว้แล้วขับเคลื่อนจนพลังงานก๊าซชีวภาพหมดไป รถยนต์สามารถวิ่งได้เป็นระยะทางเฉลี่ย 14.30 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี เจ้าของผลงานกำชับว่าสำหรับผู้ที่สนใจจะนำก๊าซชีวภาพมาบรรจุลงถังก๊าซหุงต้มควรศึกษาหาข้อมูลหรือทฤษฏีที่เกี่ยวข้องและควรคำนึงถึงระบบความปลอดภัยที่จะนำไปใช้ในขณะทำการวิจัยรวมถึงการนำไปใช้งาน อีกทั้งบ่อที่ใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพมีหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบสามารถผลิตก๊าซได้ปริมาณและแรงดันมากน้อยไม่เท่ากัน หรือถ้ามีข้อสงสัย หรือสนใจ ก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่เจ้าของผลงาน ที่หมายเลขโทรศัพท์ 086-5115857 ทั้งสองท่านพร้อมที่จะเผยแพร่รายละเอียดที่เป็นประโยชน์นี้สู่ประชาชนด้วยความยินดี