ผศ. อมร ปรางค์น้อย อดีตอาจารย์คณะศิลปกรรมสาขาประติมากรรม ภาควิชาศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้ปั้นประติมากรรมลอยตัวเครื่ององค์ของเสด็จพ่อรัชกาลที่ ๕ (ร.๕) เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อน ที่แห่งนี้ (มทร.ธัญบุรี) ยังไม่ได้พัฒนาเทียบเท่าปัจจุบันผู้หลักผู้ใหญ่หลายฝ่ายจึงได้ลงความเห็นกันว่า เราจะช่วยกันทำบ้านของเราให้น่าอยู่มากขึ้นอย่างไรดี แต่ละคนก็ลงความเห็นกันต่าง ๆ นานา แต่ด้วยเหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง คือพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งคือ อำเภอธัญบุรี เปรียบเหมือนเป็นพื้นที่ของเสด็จพ่อ ร.๕ เพราะท่านเสด็จประพาสบ่อยมาก เมื่อเราไปอาศัยอยู่ตรงนั้น เราควรยึดถือท่านเป็นที่พึ่งเพื่อเป็นสิริมงคล”

ผศ. อมร ปรางค์น้อย
ผู้ปั้นประติมากรรมลอยตัวครึ่งพระองค์ของเสด็จพ่อ ร.๕

“จากนั้น จึงได้เริ่มดำเนินการในสมัยท่านธรรมนูญฤทธิมณี (อธิการบดีในขณะนั้น) ระหว่างนั้น ดร.สุรเชษฐ์สมิตินันทน์ ที่ปรึกษาของท่านธรรมนูญ ได้เสนอแนะให้ปั้นรูปเสด็จพ่อ ร.๕ ขึ้น” “เมื่อขึ้นรูปเสร็จแล้ว จึงหารูปภาพตัวอย่างที่นำมาทำเป็นแบบปั้น ได้มาทั้งหมด ๕ รูป และเมื่อนำรูปทั้งหมดมาเรียงเปรียบเทียบกัน พบว่า พระพักตร์ของท่านแต่ละรูปไม่เหมือนกันเลย จึงนั่งคิดไตร่ตรองอยู่นานว่าจะเลือกใช้รูปใดเพราะขึ้นรูปมาแล้ว”

“ตกตอนกลางคืน ก็ฝันว่า ขณะที่กำลังปั้นอยู่ ท่านได้เสด็จมาถึงหน้าบ้าน ปรากฏพระองค์ด้วยโจงกระเบน สีน้ำเงิน (ซึ่งเป็นสีเดียวกับสีประจำมหาวิทยาลัย) เสื้อราชปะแตนสีขาว ในฝันตอนนั้นพอเห็นท่านก็ตกใจ จึงได้ทูลถามพระองค์ท่านอย่างอ่อนน้อมว่า “พระองค์เสด็จมาที่นี่เพื่ออะไรครับ” ท่านรับสั่งว่า “มาเป็นตัวอย่างให้เธอปั้นนะสิ” “แต่ฉันมีเวลาน้อยนะ” ขณะนั้นก็ได้สังเกตพระพักตร์ท่าน แล้วก็รีบปั้นด้วยความปลาบปลื้มใจ สักพักก็มีรถม้ามาเทียบที่หน้าบ้าน ท่านจึงรับสั่งว่า “ได้เวลาฉันกลับแล้วนะ” แล้วท่านก็หายไปในทันที

“รุ่งเช้า ก็รีบไปดูรูปภาพที่ได้เลือกไว้ ปรากฏมีอยู่หนึ่งรูปที่เหมือนท่านมากในฝัน จึงได้ใช้รูปนั้นเป็นแบบ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันดับแรก ๆ ของบ้านราชมงคลธัญบุรี” ผศ. อมร กล่าว