การปรับเปลี่ยนจาก “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” เป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” ในครั้งนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปครั้งใหญ่ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตามแนวทางในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ผนวกกับศักยภาพของราชมงคลที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการยึดมั่นในปรัชญาและอุดมการณ์ของราชมงคล ที่จะสนองตอบ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่บัณฑิตของราชมงคล มาเป็นหลักในการจัดการศึกษาของราชมงคลตลอดไป การแก้ไขพระราชบัญญัติของราชมงคลในครั้งนี้ จึงมีปรากฏอย่างชัดเจนในมาตรา 7 แห่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ที่กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไว้ ความว่า
“ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ การสอน การวิจัย การผลิตครูวิชาชีพ การจัดการศึกษา ตลอดชีวิตด้านวิชาชีพ ให้บริการวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม”
ตัวอย่างผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อาทิเช่น
ลดปัญหาน้ำมันแพง พลังงานทางเลือกไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว
แผ่นดับกลิ่นใต้วงแขนไอเดียเจ๋งๆ
บะหมี่มะรุม เมนูใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ “นัท” น.ส. มณีรัตน์ ฤทธิ์สันเทียะ น.ศ.ชั้นปี4 ภาควิชาอาหารและโภชนาการ
Choambon” บรรจุภัณฑ์ชนะเลิศโล่เกียรติยศ นายสุวิทย์ คุณกิตติ
จากวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าว นำไปสู่เป้าหมายในการจัดการศึกษาของราชมงคลที่มุ่งสู่การผลิต“บัณฑิตนักปฏิบัติ” ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน และกำลังจะก้าวสู่อนาคต แต่จะต่างกันตรงที่กระบวนการในการจัดการศึกษาให้ได้มาซึ่งบัณฑิตนักปฏิบัตินั้น จะต้องมีความเข้มข้น และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศที่ต้องการบุคคลดังกล่าวอย่างสอดคล้องกัน
คำว่า “บัณฑิตนักปฏิบัติ” ในความหมายของราชมงคลยึดเป็นแนวคิดนั้นได้น้อมรับมาจาก พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของราชมงคล ในปี พ.ศ.2525 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า “…บัณฑิตทุกๆสาขา ทุกๆคน มีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องเป็นกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ การที่จะให้ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องลงมือทำมันอย่างจริงจัง…”
“การลงมือ” ที่จริงมีความหมายกว้างขวาง คือ หมายถึง การปฏิบัติด้วยวิธีต่างๆ ทุกอย่างแต่เพราะที่เห็นชัดเรามักปฏิบัติด้วยมือจึงพูดเป็นสำนวนว่า “ลงมือ” การลงมือหรือการปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับการที่สมองหรือใจสั่ง คือใจมันสั่งเมื่อไร อย่างไร ก็ทำเมื่อนั้น อย่างนั้น ฉะนั้นถ้าใจไม่สู้ คือ อ่อนแอ ลังเล เกียจคร้าน หรือไม่สุจริต ไม่เที่ยงตรง ก็จะไม่ลงมือทำ หรือทำให้มันคั่งค้าง ทำให้ชั่ว ให้เสียหาย เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสร้างสรรค์ หากแต่เป็นบ่อนทำลายให้เกิดความเสียหายและเกิดโทษสุจริต นักปฏิบัติงานจึงต้องรู้จักฝึกปฏิบัติใจตนเอง เป็นสำคัญ และเป็นเบื้องต้น ก่อนอื่นต้องหัดทำใจให้หนักแน่น กล้าแข็งละเป็นระเบียบ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่มักง่ายเห็นแก่ความสะดวกสบาย และทีสำคัญที่สุดจะต้องให้เที่ยงตรง เป็นกลาง และสุจริตอยู่เสมอไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เครื่องหลอกล่อใดๆ จึงจะช่วยให้เป็นนักปฏิบัติที่ดี ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง…”
ความหมายของการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่ดี จึงหมายรวมถึงการปฏิบัติที่จะต้องได้รับการฝึกฝนทั้งใจและกาย และทั้งจะต้องเป็นนักปฏิบัติงานที่มีหลักวิชาดีด้วย และที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงตังเองให้มีการพัฒนาก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ใฝ่ใจศึกษาทั้งทางลึกและทางกว้าง เพื่อให้บัณฑิตใช้วิชาชีพความสามารถความบริสุทธิ์ใจความฉลาดรอบคอบ สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวมได้สัมฤทธิ์ผล