กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/63 ว่ามีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุด ตั้งแต่ไตรมาส 2/62 สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก ผลจากสถานที่ทำงานปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้าง
กรุงเทพธุรกิจ ทั้งนี้ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน เป็นผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 400,000 คน ส่วนที่เหลืออีกราว 1.7 ล้านคน แม้จะว่างงานแต่ยังมีสถานะของการจ้างงานอยู่ เพียงแต่ไม่ได้รับเงินจากนายจ้างเนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือปิดตัวชั่วคราว
ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลง -1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร สาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก คือสาขาก่อสร้าง, สาขาการผลิต, สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขณะที่สาขาขายส่ง/ขายปลีก โดยแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระอีก 16 ล้านคน เนื่องจากมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วโอกาสเสี่ยงของผู้ว่างงานในอาชีพอิสระก็จะลดลง
ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องวิเคราะห์ว่าหลักสูตรไหนต้องปรับปรุง หรือต้องสร้างหลักสูตรใหม่ๆ รองรับอุตสาหกรรมหลัง โควิด-19 เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการปรับตัวทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ดังนั้น หลักสูตรในการผลิตนักศึกษาต้องให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่าดังนั้นทุกคณะของมหาวิทยาลัยต้องเปิดหลักสูตร Non Degree ช่วยเพิ่มความรู้ให้แก่คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ เปิดกว้างให้ทุกคนได้มาเพิ่มทักษะให้แก่ตัวเอง โดยเฉพาะศิษย์เก่า ได้มาใช้บริการอย่างเต็มที่ ขณะนี้เปิดให้เข้าเรียนแล้วในบางคณะ รวมถึงจัดทำธนาคารหน่วยกิต ให้ผู้ที่สนใจมาเรียนเพิ่มเติมทักษะ องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้เก็บสะสมหน่วยกิต และเมื่อเก็บสะสมครบก็จะได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตร เป็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ซึ่งปัจจุบันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี 86 สาขา ปริญญาโท ประมาณ 20 สาขา และปริญญาเอก ซึ่งทุกหลักสูตรมีความร่วมมือกับสถานประกอบการ สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยนักศึกษาทุกคนต้องไปฝึกสหกิจศึกษา ในสถานประกอบการ 1 ภาคเรียน หรือ 4 เดือน
ขณะนี้ประมาณ 80% ไปฝึกสหกิจศึกษาในบริษัทที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยประมาณ 1,500 กว่าแห่ง ทำให้ผลิต บัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะด้านการสื่อสารภาษาที่ 2 การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์อาชีพ และทักษะด้านไอที ซึ่งต้องเพิ่มเติมทักษะเหล่านี้นอกเหนือจากความรู้ตามวิชาชีพ เพราะในโลกอนาคต ทุกอาชีพต้องใช้ทักษะเหล่านี้
ฉะนั้นนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่มหาวิทยาลัยควรจะเลือกเรียนในคณะที่ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ อาชีพด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือคณะที่เกี่ยวกับไอที ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆ รวมถึงคนในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ต้องเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมทักษะให้แก่ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
อธิการบดีมทร. ธัญบุรี กล่าวว่านอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษาออนไลน์ โดยเตรียมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 13 ก.ย.นี้ รูปแบบ การเรียนจะใช้ผสมผสานระหว่างในชั้นเรียน และออนไลน์ กว่า 500 บทเรียนในรูปแบบการเรียนออนไลน์ รูปแบบการสอนจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์บทเรียนร่วมกันของนักศึกษา และนำมาสู่การสร้างชิ้นงาน ไม่ใช่เป็นการสอนบรรยายแก่นักศึกษา
“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการรองรับเหตุการณ์โรคระบาด ร่วมมือกับรพ.ธัญบุรี อ.ธัญบุรี เตรียมการสถานที่ โดยปรับปรุงอาคาร เพื่อเป็นที่พักของผู้ที่ต้องกักกัน 14 วันจัดทำระบบสำหรับคัดกรอง เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยป้องกันสารคัดหลั่งและแบคทีเรีย มอบให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล หอพัก หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนงบวิจัยเกี่ยวกับการช่วยเหลือ โควิด-19 ให้อาจารย์ทุกคณะได้คิดนวัตกรรมการป้องกันโรคต่างๆ การศึกษาเกี่ยวกับไบโอพลาสติกมาจัดทำเป็นแผ่นกรองพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ทำประกันชีวิตโรคโควิด-19 ให้แก่คณาจารย์ 983 คน บุคลากรฝ่ายสนับสนุน 1,028 คนรวมแล้วประมาณ 2,000 กว่าคน และนักศึกษา 26,000 กว่าคน เป็น ระยะเวลา 1 ปี เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ โควิด-19 แม้หลายคนจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาอาจจะมีจำนวนว่างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการช่วยเหลือนักศึกษาหลากหลายแนวทาง อาทิ จ้างงานผู้ว่างงานเพื่อลงพื้นที่ช่วยยกระดับชุมชน จำนวน 377 อัตรา ระยะเวลา 3 เดือนๆ ละ 9,000 บาท โดยได้รับ งบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล ที่ได้เข้าไปช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน
โดย มทร.ทั้ง 9 แห่งได้รับ การอนุมัติแห่งละ 80 โครงการ ทำให้เกิดการจ้างงานคนในชุมชน รวมถึงยังได้กำหนดให้โครงการวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัย การจ้างผู้ช่วยวิจัยกำหนดให้จ้างบัณฑิตของมหาวิทยาลัย อัตราค่าจ้างสูงถึง 15,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับขนาดและงบประมาณของงานวิจัย และทุกคณะจัดทำหลักสูตร Re Skill และ Up Skill ให้นักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ เพิ่มพูนความรู้ให้กับทุกคน